เกมอิเล็กทรอนิกส์ก็มีประโยชน์กว่าที่หลายคนคิด

ถ้าพูดถึงเกมอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นเกมมือถือ, Console, PC หรือพูดง่าย ๆ ว่าเกมอะไรก็ตามที่ต้องเล่นบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มักถูกมองเป็นจำเลยของสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ปกครองที่มองว่าเกมคือสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เกมเป็นภัยเงียบของสังคมที่จะชักพาให้บุตรหลานของตนเสียผู้เสียคน หลักฐานก็ปรากฏชัดเจนจากข่าว หรืองานวิจัยมากมายเรื่องเด็กติดเกม หากจะว่าไปทุกสิ่งบนโลกนี้ก็มี 2 ด้าน เป็นดาบ 2 คม ได้ทั้งนั้น การเล่นเกมโดยขาดการกำกับดูแลจากผู้ปกครอง การปล่อยปละละเลยย่อมเสี่ยงที่จะทำให้เยาวชนติดเกมซึ่งก็เป็นผลเสียร้ายแรงแน่นอน แต่ก็ยังมีงานวิจัยอีกหลายงานที่แสดงให้เห็นว่าเกมก็มีประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าโทษของมันเลย

ประโยชน์ของเกมอิเล็กทรอนิกส์

  1. คลายเครียด แน่นอนอยู่แล้วว่าเกมอิเล็กทรอนิกส์ถูกสร้างมาเพื่อทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนุก ผ่อนคลายจากความเครียดจากสมองที่เหนื่อยล้าจากการเรียน หรือการทำงาน
  2. พัฒนาสมอง เสริมไหวพริบ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จากเกมที่มีให้เลือกเล่นมากมายนั้น มีหลายเกมที่ผู้เล่นต้องอาศัยความจำ การคิดวางแผน การถอดปริศนาต่าง ๆ รวมถึงการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ล้วนแล้วแต่สามารถพัฒนาสมองด้านทักษะความคิดให้ผู้เล่นได้เป็นอย่างดี
  3. เสริมสร้างความสัมพันธ์ให้กับคนในครอบครัว และคนใกล้ชิด นั่นเพราะว่าเกมที่ออกแบบมาให้เล่นร่วมกันไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกันเองหรือร่วมกันเล่นเพื่อพิชิตเป้าหมายเดียวกันย่อมทำให้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีผ่านการสื่อสารแลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างการเล่นเกม

โทษของเกมอิเล็กทรอนิกส์

  1. สุขภาพร่างกายทรุดโทรม เสียสายตา ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดท้อง อ่อนเพลีย และปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อีกมากมาย
  2. พฤติกรรมและสภาพจิตใจ ที่อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบความรุนแรง ไม่ชอบการเข้าสังคม
  3. พัฒนาการของสมองและทักษะด้านต่าง ๆ ลดลง เพราะขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและคนรอบข้าง หมกมุ่นแต่กับการเล่นเกมจนไม่ได้ใช้สมองในการคิดด้านอื่น ๆ ขาดการเรียนรู้ทักษะที่ต้องใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม

เล่นเกมอย่างไรให้ได้ประโยชน์

ในความเป็นจริงการเล่นเกมเพียงชั่วครั้งชั่วคราวไม่สามารถทำให้ร่างกายทรุดโทรม พฤติกรรมเปลี่ยน หรือแม้แต่พัฒนาการของสมองจะลดลงได้ เราจะเห็นโทษของการเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ได้ก็ต่อเมื่อคน ๆ นั้นเล่นเกมบ่อยครั้ง ครั้งละนาน ๆ และหากพฤติกรรมเหล่านี้ยังคงมีอยู่ต่อไปโดยไม่มีการยับยั้งก็จะกลายเป็นพฤติกรรมติดเกมในที่สุด และแน่นอนว่าโทษของมันไม่คุ้มค่าต่อการเสี่ยงเลย

ดังนั้น ทุกครั้งที่เล่นเกมผู้เล่นควรควบคุมตัวเองไม่ให้หลงไปกับความสนุกตื่นเต้นของตัวเกมก่อนที่เกมจะควบคุมคุณ ยิ่งในกลุ่มเด็กซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเกมมากที่สุด ผู้ปกครองควรเอาใจใส่เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับควบคุมให้มีช่วงเวลาการเล่นที่เหมาะสม ปลูกฝังวินัยในตนเองให้กับบุตรหลาน และหากผู้ปกครองจะเปิดใจโดยการใช้เกมเป็นสื่อกลางเพื่อสานสัมพันธ์ในครอบครัว เลือกเกมดี ๆ หาช่วงเวลาที่เหมาะสมชวนคนในครอบครัวมานั่งล้อมวงเล่นเกมด้วยกันก็จะยิ่งสร้างความอบอุ่นในครอบครัวได้เป็นอย่างดี เพียงเท่านี้โทษของเกมก็จะเปลี่ยนเป็นประโยชน์ไปทันที